SME กล้าเปลี่ยน IBRAIN “ถ้าจะเติบโตต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง”

พบกับโกเมศ แสงจันทร์ ประธานกรรมการ บริษัท ไอเบรน แอดวานซ์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของกิจการโรงพิมพ์ฉลากสินค้าและกล่องบรรจุภัณฑ์ ที่กล้าลงทุนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง สอดคล้องไปกับสถานการณ์ จนทำให้บริษัทสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 พร้อมกับการเติบโตมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ อะไรคือกุญแจสู่ความสำเร็จนี้ มาดูพร้อมๆ กัน

สวัสดีครับ โกเมศ แสงจันทร์ ประธานกรรมการ บริษัท ไอเบรน แอดวานซ์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทรับพิมพ์ฉลากสินค้าและกล่องบรรจุภัณฑ์ เรามีเทคโนโลยีงานพิมพ์ครบวงจร เราเป็นผู้ผลิตฉลากติดสินค้าอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ เราได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำของประเทศมากกว่า 1,000 บริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร เคมีเกษตร คอสเมติก กลุ่มยานยนต์ และอื่นๆ


จากพนักขายสู่เจ้าของธุรกิจ และอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า
จุเริ่มแรกผมทำอาชีพฝ่ายขาย แล้วรู้สึกเบื่อกับงานประจำ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง จึงตั้งบริษัทไอเบรน แอดวานซ์ แอนด์ เทคโนโลยี ขึ้นมา ช่วงแรกเราเป็นเทรดดิ้ง ซื้อมาขายไป ต่อมาซื้อเครื่องพิมพ์เครื่องแรก ยอดขายขึ้นมาทันที 35 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 1 ปี เครื่องพิมพ์ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้แล้ว เราเลยจำเป็นต้องซื้อเครื่องพิมพ์เครื่องที่ 2 พอมีเครื่องพิมพ์เครื่องที่ 2 ก็เจอปัญหาเรื่องสถานที่อีก ถูกข้างบ้านร้องเรียนว่าเสียงดัง จึงต้องหาสถานที่ใหม่ในการตั้งโรงงาน

ลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม = โอกาสทางธุรกิจที่ดีกว่า
หลังจากย้ายมาที่โรงงานแห่งใหม่ ธุรกิจก็เจริญเติบโตไปได้ดี จึงได้ลงทุนเพิ่มอีก โดยในการซื้อเครื่องจักรแต่ละเครื่อง เราไม่ได้ซื้อเครื่องจักรมารองาน แต่เราจะสะสมงานก่อนที่จะซื้อเครื่องจักร ซึ่งครั้งนี้ได้ซื้อเครื่องพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสมาจากประเทศญี่ปุ่นในราคา 12 ล้านบาท ถือเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัทเลย เพราะมาช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ทำงานที่เราไม่เคยทำได้มาก่อน และสร้างยอดขายให้บริษัทได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีเครื่องไม้เครื่องมือครอบคลุมทุกเทคโนโลยี สามารถทำงานตั้งแต่ 1 ชิ้น ถึงมากกว่า 100 ล้านชิ้น

กลยุทธ์การขาย
ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ผมถือว่าผมเริ่มจากศูนย์เลย สิ่งที่เราเดินเข้าไปหาลูกค้าคือ เรามองว่าเขาใช้สินค้าที่เราผลิตอยู่แล้ว และในการนำเสนอสินค้า เราจะไม่เน้นเรื่องการขายสินค้า แต่เน้นเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ การเลือกวัตถุดิบให้เหมาะสม ลูกค้าอยากได้งานตัวอย่าง เราก็พร้อมผลิตให้ แม้จะเป็นต้นทุนของบริษัท เพราะเราอยากให้ลูกค้าได้เห็นผลงานของเราจริงๆ ถึงแม้จะซื้อจำนวนน้อย ก็ไม่เคยคิดว่าไม่อยากขายงานให้ ลูกค้าของบริษัทมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซื้อขายกับบริษัทมามากกว่า 10 ปี และตอนนี้ยังมีกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่ๆ เติมเข้ามาอยู่อย่างสม่ำเสมอ บริษัทก็ให้ความสำคัญ ซึ่งเราก็จะเติบโตไปด้วยกัน

การตลาดออนไลน์  สู้วิกฤตโควิด-19
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราใช้สื่อการตลาดออนไลน์แนะนำบริษัทอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่เราทำมามันเริ่มเห็นผล เพราะลูกค้าของบริษัทมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้ากลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศ พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นมา ลูกค้าหยุดกิจกรรมทั้งหมดเลย แต่ก็มีงานจากอีกกลุ่มเข้ามาทดแทน เป็นพวกงานแฮนด์เจล ซึ่งเป็นลูกค้าใหม่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สั่งตั้งแต่ระดับพันชิ้นถึงล้านชิ้น ช่วงโควิด-19 ถือว่าเราประสบความสำเร็จพอสมควร บริษัทเติบโตมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ นอกจากแฮนด์เจลก็ยังมีกลุ่มเฮลท์แคร์ กลุ่มคอสเมติก กลุ่มอาหารเสริม เป็นกลุ่มที่มาเสริมให้เรามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีนี้บริษัทมียอดขายมากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี

ปัญหาธุรกิจโรงพิมพ์
ปัญหาที่ผมเจอมาตลอดเป็นปัญหาเรื่องคนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝ่ายผลิต มีงานเยอะ ก็หาคนทำงานไม่ได้ กดดันเยอะ ก็จะลาออก ซึ่งคนงานใหม่ก็หายาก ต้องสอนงานกัน บางทีสอนงานยังไม่ทันเก่งเลย ก็ลาออกแล้ว วิธีแก้ของบริษัทเราคือ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาควบคุมการผลิต กำหนดเป้าหมายของแต่ละคน งานจะต้องเสร็จภายในระยะเวลากี่ชั่วโมง วันหนึ่งคุณต้องทำงานได้กี่ชิ้นงาน ในแต่ละสัปดาห์ก็จะประเมินการทำงานของพนักงานแต่ละคนว่าได้งานตามแผนที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าไม่ได้ เราก็จะให้หัวหน้าในแผนกนั้นลงไปแก้ปัญหา

ไทยเครดิต STANDBY
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนึ่งคือ ซัปพลายเออร์ส่วนใหญ่ต้องการขายสินค้าเป็นเงินสด ช่วงนั้นเราต้องการเงินสดพอสมควรเลย ผมก็นึกถึงธนาคารไทยเครดิตขึ้นมา โดยปกติที่ผมเคยกู้ธนาคาร ส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน ขอเอกสารเยอะแยะไปหมด ธนาคารไทยเครดิตขอเอกสารนับครั้งได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทเราเอกสารค่อนข้างครบ และงบการเงินของเราไม่ได้ติดลบ จึงง่ายสำหรับธนาคารในการวิเคราะห์สินเชื่อ ธนาคารพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ใช้เวลาไม่นานในการวิเคราะห์สินเชื่อ เพียง 3 สัปดาห์ เท่านั้นเอง ต้องขอขอบคุณธนาคารไทยเครดิตที่คอยสนับสนุนธุรกิจเราในช่วงวิกฤตด้วยความรวดเร็ว เพราะผมเชื่อว่าการทำธุรกิจ ใครเร็วกว่าย่อมมีโอกาสมากกว่า