มาตรการกำกับดูแลด้าน AML & CFT

สรุปนโยบายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Counter Terrorism and Proliferation of Weapon of Mass Destruction Financing: AML/CFT)
 

ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการป้องกันมิให้ธนาคารเป็นแหล่งฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ดังนั้น ธนาคารจึงได้กำหนดนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ คู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานของธนาคารดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และกฎระเบียบของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องต่อไปนี้
 

  • การรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (KYC/CDD) : ธนาคารกำหนดให้ลูกค้าต้องแสดงตนทุกครั้งก่อนสร้างความสัมพันธ์/ทำธุรกรรม โดยแสดงข้อมูลและหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ธนาคารสามารถระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้าได้ และมีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
  • การตรวจสอบรายชื่อลูกค้ากับ Sanction Lists : ธนาคารกำหนดให้มีการตรวจสอบรายชื่อลูกค้าและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามที่หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และตามมาตรฐานสากล ก่อนสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า/ทำธุรกรรม
  • บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) : ธนาคารกำหนดให้บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) เป็นปัจจัยที่มีระดับความเสี่ยงสูง ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองจะต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเข้มข้น การทบทวนข้อมูลลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และการอนุมัติการสร้างความสัมพันธ์จากผู้บริหารระดับสูงของธนาคารหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
  • การบริหารความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง : ธนาคารจัดให้มีการระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้ารวมถึงประเมินและจัดระดับความเสี่ยงในการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของลูกค้า เพื่อจัดเก็บข้อมูลและหลักฐานการแสดงตนให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงในการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของลูกค้า นอกจากนี้ ธนาคารมีการทบทวนข้อมูลลูกค้าและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ
  • การติดตามความเคลื่อนไหวในทางบัญชีของลูกค้า : ธนาคารกำหนดให้มีการติดตามและสอบทาน ความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้าจนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด เพื่อประเมินว่าลูกค้าทำธุรกรรมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ อาชีพ และแหล่งที่มาของรายได้ที่แจ้งแก่ธนาคารหรือไม่
  • การรายงานธุรกรรม : ธนาคารมีกระบวนการและระบบงานสำหรับการรายงานธุรกรรมของธนาคาร ได้แก่ ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสด ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย เพื่อให้การปฏิบัติงานของธนาคารถูกต้อง สอดคล้องตามกฎหมาย
  • การเก็บรักษาข้อมูล : ธนาคารกำหนดให้มีการจัดเก็บข้อมูล เอกสาร และหลักฐานการทำธุรกรรมและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการเก็บรักษาข้อมูลจะต้องเก็บรักษาไว้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ในการตรวจสอบและเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงตามกฎหมาย
  • การฝึกอบรมบุคลากร : ธนาคารจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่พนักงาน เพื่อให้ได้รับทราบและเข้าใจแนวทางปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างถูกต้อง ผ่านหลากหลายช่องทาง อีกทั้งจัดให้มีการประเมินความรู้พนักงานในเรื่องดังกล่าว
Patriot Act Certification 
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำ Patriot Act Certification เพื่อเป็นข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการด้าน  AML/CFT ของธนาคาร
AML Questionnaire 
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำ Wolfsberg Questionnaire เพื่อเป็นข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการด้าน  AML/CFT ของธนาคาร
Supporting Document 
นโยบายการปฏิบัติงานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการป้องกัน และปราบปรามการสนับบสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย