ถอดรหัสรวย กับ คุณโซ่ สาริทธิ์ พงศ์ทรัพย์เจริญ เจ้าของธุรกิจฟาร์มปูนา ที่ทำรายได้หลักล้านต่อปี

“Crab House” ธุรกิจปูนา ที่หลายๆคนมองข้าม แต่สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล วันนี้คุณโซ่ จะมาเผยเคล็ดลับว่าทำธุรกิจอย่างไรให้แตกต่างและประสบความสำเร็จ

1. มองเห็นโอกาสจากธุรกิจที่แตกต่างจากผู้อื่น
ธุรกิจปูนา อาจจะเป็นธุรกิจที่คนส่วนใหญ่มองข้าม เพราะคิดว่าคงไม่สามารถนำมาสร้างรายได้หลักล้าน แต่คุณโซ่ ใช้ความแตกต่างนี้สร้างรายได้ให้จากธุรกิจปูนา โดยการศึกษาและวิจัยอย่างละเอียดตั้งแต่การเพาะเลี้ยงปูนาแบบครบวงจร รวมไปถึงการวิจัย พัฒนาแปรรูปปูนา ให้ขยายต่อยอดธุรกิจอีกด้วย

2. แนวคิดธุรกิจแบบ Zero Waste  หรือ “แนวคิดขยะเหลือศูนย์”
แนวคิดธุรกิจที่ว่านี้ เรียกได้ว่าสามารถนำไปต่อยอดได้อย่างคุ้มค่า  “ปูนา” ไม่มีส่วนไหนต้องทิ้งเลย ตัวไหนที่แขนขาครบ สามารถใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ตัวไหนที่แขนขาไม่ครบ ก็ยังสามารถไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น นอกจากที่จะแปรรูปได้แล้ว ปูตายก็มีประโยชน์ สามารถเอาไปตากแดด และบดทำเป็นปุ๋ย เอาไปหมักเป็นต้นไม้ได้ หรือแม้แต่น้ำขี้ปูเองที่ใช้เลี้ยงปูหนึ่งเดือนแล้ว ก็ยังสามารถเอาไปรดน้ำต้นไม้ใช้แทนปุ๋ยได้เลย

3. ปรับธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า
คุณโซ่เริ่มจากการสอบถามคนหลายๆคนที่ไม่กินปูนา จึงได้รู้สาเหตุว่าเพราะพยาธิ ปลิง สารเคมี ปรสิต เขาเลยมานั่งดูว่าทำอย่างไรถึงจะกำจัดสิ่งพวกนี้ออกไปได้หมด จนไปเจอนวัตกรรมหนึ่ง นั่นก็คือ การเลี้ยงปูนาในน้ำสะอาด ซึ่งในน้ำสะอาดหรือในน้ำประปาที่ใช้กัน มีการส่งไปถามนักวิจัยว่าการเลี้ยงแบบนี้มันเป็นยังไง รวมไปถึงมีอาจารย์ทางด้านประมงที่มาช่วยดูแล จนทำให้เขามั่นใจได้ว่าวิธีการเลี้ยงแบบนี้มันมาถูกทางแล้ว ซึ่งสิ่งที่ได้ต่อจากนั้น ในการตรวจเช็ค ก็คือไม่มีพยาธิ ปลิง ปรสิต และก็สารเคมี ตามที่เขาคิดจริงๆ เขาจึงกลายเป็นผู้คิดค้น ริเริ่มการเพาะเลี้ยงปูนาน้ำใสขึ้นมานั่นเอง

4. กลยุทธ์ “กัดไม่ปล่อย” ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
เราต้องไม่ยอมแพ้และล้มเลิกอะไรง่ายๆ อย่างแรกเลยในการทำธุรกิจเราต้องรู้ลึก รู้จริงและรู้รอบ เพราะถ้าเราแค่รู้ลึกอย่างเดียวแต่ไม่รู้รอบ เราก็จะไม่รู้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้ามัวคิดถึงแต่ปัญหาอย่างเดียว แต่ไม่ลงมือทำ เราก็จะไม่รู้ว่าปัญหามันจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องรู้จักธุรกิจของเราให้ดีก่อน ถ้าเราไม่มีความรู้ในธุรกิจนั้นมากพอ เราก็จำเป็นจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น เพื่อให้เราเข้าใจในธุรกิจนั้นอย่างดีเสียก่อน 


ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล https://youtu.be/5tERVIpFOV8
เรียบเรียง : Thai Credit Micro Economic Development
#ตังค์โตKnowhow